ประเด็นร้อน

ชู 'บรรษัทภิบาล' ดันธุรกิจโตยั่งยืน

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 15,2017

 - - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15/06/60 - -

          
ผู้เชี่ยวชาญชูบรรษัทภิบาลเป็น เครื่องมือช่วยธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ชี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสส่งผลต่อความเชื่อมั่น พร้อมเร่งแก้ปัญหาทุจริตเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและผู้บริโภค
          
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการใหญ่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวในงานประชุมการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในโลก ที่เปลี่ยนแปลง ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) วานนี้(14 มิ.ย.) ว่า ธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลหรือหลักการจัดการบริหารที่ดีนั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจต่างๆ และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเกิดความไม่แน่นอนในด้านการเมืองระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อด้านการค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ
          
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้โลก ไม่ได้อยู่ในยุคเสรีใหม่ (Neo-Liberalism) อีกแล้ว แต่อยู่ในยุคหลังเสรี (PostLiberalism) เนื่องจากหลายประเทศได้เลือกผู้นำหรือคณะผู้บริหารที่มีแนวคิดทำเพื่อคนในชาติเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศน้อยลง ทั้งยังเห็นการท้าทายองค์กรระดับโลก อย่างเช่น องค์การการค้าโลก ด้วยการทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่ใช้ กฎเกณฑ์ที่ต่างจากกฎเดิมที่ใช้กันทั่วโลก อย่างเช่น กฎการค้าขององค์การการค้าโลก จึงทำให้ธุรกิจจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง ด้านนายเมอร์วิน  คิง ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และประธานคณะกรรมการบรรษัทภิบาลคิง จากแอฟริกาใต้  กล่าวสอดคล้องกันว่า การทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว ใน ยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยหลักบรรษัทภิบาล
          
เขาแนะนำว่า ที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์มักให้ความสำคัญกับ ราคาหุ้นและผลประกอบการเป็นหลัก ซึ่งเป็นเป้าหมายธุรกิจในระยะสั้น แต่แทบไม่มีบริษัทใดมองเห็นทุนมนุษย์ ความเป็นอยู่ของพนักงาน ความ สัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าและ ผู้ถือหุ้น ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับ ผลประกอบการในระยะยาว
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวต่อไปว่า หากต้องการเป็นธุรกิจที่ขึ้นชื่อด้านบรรษัทภิบาล ธุรกิจรายนั้นต้องเป็นผู้นำด้านจริยธรรม มีความรับผิดชอบในสายตาคนทั่วไป และจะต้องเน้นแนวคิดที่ตอบสนองความยั่งยืน
          
อย่างไรก็ตาม นายศุภชัยเสริมว่า ธุรกิจจะขับเคลื่อนบรรษัทภิบาลไม่ได้ ถ้าหากไม่มีเข็มทิศทางความคิด ที่จะคอยชี้นำก้าวย่างและทิศทางที่ธุรกิจรายนั้นจะเดินต่อไป และเข็มทิศ ดังกล่าวก็ต้องมาพร้อมกับความเห็นอกเห็นใจทุกฝ่ายและชุมชนที่เกี่ยวข้อง
อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ยกตัวอย่างให้เห็นว่า การขาดบรรษัทภิบาล และการเน้นผลประกอบการในระยะสั้น และระยะไตรมาส เพียงอย่างเดียว เคยทำให้ธุรกิจบางรายสะดุดมาแล้ว อย่างเช่น กรณีฉาวเกี่ยวกับการโกงค่าทดสอบการปล่อยไอเสียของผู้ผลิตรถยนต์ แถวหน้าของโลก หรือแม้แต่การตกแต่งบัญชีของธนาคารชื่อดัง
          
นายจอห์น ซัลลิแวน สมาชิก กลุ่มที่ปรึกษาภาคเอกชน จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) และ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอร์จ  เมสัน ในสหรัฐ มองว่า การทุจริตเป็นปัญหาหลัก ที่ต้องแก้ไขเพื่อเสริมบรรษัทภิบาล ของธุรกิจ โดยได้ยกตัวอย่างการประชุม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อปี 2547 ว่า ประเทศในกลุ่มนี้เห็นพ้องให้เพิ่ม "กรอบธรรมาภิบาล" เป็นเป้าหมาย การพัฒนาของกลุ่ม ซึ่งกรอบธรรมาภิบาล ต้องส่งเสริมความโปร่งใส ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมรอบข้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
          
นายซัลลิแวน กล่าวอีกว่า หลัก ธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ต้องทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจ และเศรษฐกิจด้วย ที่ผ่านมา ไทยและอีกหลายประเทศ ก็มีความคืบหน้า ด้านทบทวน และตรวจสอบหลัก จริยธรรมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใสในองค์กรมากขึ้น เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ เสนอวิธีแก้ปัญหาการทุจริตอีกว่า ควรใช้สถิติและการ จัดอันดับจากหน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานระหว่าประเทศ ในการปรับปรุงความโปร่งใส และส่วนตัวขอชื่นชมไอโอดี ที่มีการจัดอันดับการต่อต้านการทุจริตขององค์กรต่างๆ แล้ว  ขณะเดียวกันหลายประเทศก็ให้ความสนใจต่อการจัดอันดับในลักษณะนี้ มาก เพราะการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ในเอเชีย และเป็นตัวฉุดหลักบรรษัทภิบาล และธรรมาภิบาล ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจและเศรษฐกิจล้มเหลวในระยะยาว อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับบราซิล จากที่เคยเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของโลก แต่ การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวงการ ทำให้ประเทศนี้แทบหลุดพ้นสถานะ ดังกล่าวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นายซัลลิแวน กล่าวว่า ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา มีการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตและบรรษัทภิบาล โดยบริษัทที่มีหลักการบริหารจัดการที่ดีกว่า จะดึงดูดทุนและสร้างการเติบโตในระยะยาวได้ดีกว่า และต้องอาศัยการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อรักษาการเติบโตสู่ยุคต่อไป
'เคพีเอ็มจี' แนะผู้บริหารปรับวิธีคิดทันเทคโนโลยี

นายทัม ไซ ชอย ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเคพีเอ็มจี บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก กล่าวใน งานประชุมการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในโลกที่เปลี่ยนแปลงว่า นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ ที่เกิดจาก การปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิทัล ทำให้ผู้บริหารและกรรมการบริษัทต่างๆ ต้องเปลี่ยนแนวคิดและ วิธีการทำงาน เพราะการเปลี่ยนแปลง ในยุคนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า ยุคก่อนหน้า และเปลี่ยนแปลงอย่าง ไม่หยุดยั้ง ซึ่งสร้างผลกระทบ ต่อมนุษย์ทุกคนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน